ประกันภัยสินเชื่อซื้อบ้าน และรถยนต์
หลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์ ล้วนแล้วเป็นสิ่งสำคัญ ที่อยู่กับภาคการเงินมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นกลไกที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิต จึงทำให้หลักประกันยังเป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาคุณภาพในการขอสินเชื่อ แต่เมื่อนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันก็ต้องมีการทำประกันอีกด้วย หรือบางกรณีเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินเสนอรูปแบบประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ ซึ่งในหลักทางกฎหมายบังคับใช้ให้ผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์ ต้องทำประกันสินเชื่อ ฉะนั้น เพื่ออธิบายให้เข้าใจถูกต้องในการขอสินเชื่อต้องทำประกันอะไรบ้าง
1. ประกันภัยภาคบังคับเมื่อใช้ในการขอสินเชื่อ ขึ้นกับผู้ขอสินเชื่อ จะนำหลักทรัพย์ประเภทใดมาใช้ค้ำประกัน เช่น รถยนต์ และที่อยู่อาศัย
1.1 สินเชื่อรถยนต์ นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สินเชื่อรถยนต์ใหม่(มือหนึ่ง) และรถยนต์มือสอง สินเชื่อประเภทนี้ประกันที่ต้องมีประกอบด้วย
– พรบ.รถยนต์ (พระราชบัญญัติ) ประกันประเภทนี้กฏหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำ ไม่ว่าจะขอสินเชื่อหรือไม่ขอสินเชื่อก็ตามรถยนต์ทุกคันต้องมี พรบ.
– ประกันภัยชั้น 1 , 2+ , 2 , 3+, 3 ถ้าหากขอสินเชื่อจะกำหนดเงื่อนไขให้ต้องทำประกันชั้น* 1, 2+ หรือ 2 อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยต้องทำประกันให้ครอบคลุมมูลค่ารถ (ทำเต็มทุนประกัน)
สำหรับการทำประกันภัยรถยนต์ และประกันอัคคีภัย ผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกทำประกันกับบริษัทใดก็ได้ตามที่ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งจะต้องแจ้งชื่อผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ เป็นชื่อของสถาบันการเงิน และต้องนำส่งกรมธรรม์ให้กับสถาบันภายใน 30 วัน นับจากวันที่ครบกำหนด รวมทั้งกรมธรรม์ปีต่ออายุ ในกรณีนี้แนะนำให้ทำประกันกับบริษัทประกันที่เป็นพันธมิตรกับสถาบันทางการเงิน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และไม่เป็นภาระกับผู้ขอสินเชื่อในเรื่องต่างๆ
1.2 สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือบ้าน นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สินเชื่อธุรกิจ, สินเชื่อบ้าน, สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ ฯลฯ หากเป็นสินเชื่อประเภทนี้ต้องทำประกันอัคคีภัย โดยต้องทำประกันให้ครอบคลุมมูลค่าบ้าน (ทำเต็มทุนประกัน)
แนะนำให้เพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สินภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะถ้าหากเกิดความเสียหายจากไฟไหม้เพียงเล็กน้อย เช่น ไฟไหม้ชุดรับแขกเสียหาย หรือบางกรณีฟ้าผ่า หรือภัยอื่นๆ ซึ่งในกรณีนี้จะสามารถ เบิกค่าสินไหมทดแทนได้ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
สิ่งที่ต้องรู้ เกี่ยวกับการทำประกันภัยรถยนต์ และประกันอัคคีภัย
• การทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง1 ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขอสินเชื่อ ต้องทำประกันให้ครอบคลุมมูลค่าทรัพย์สิน ตัวอย่างเช่น รถยนต์ มูลค่า 300,000 บาท ต้องทำประกันภัยทุน 300,000 บาท หรือบ้าน มูลค่า 2,000,000 บาท (ไม่รวมมูลค่าที่ดิน) ต้องทำประกันทุน 2,000,000 บาท หากไม่ทำเต็มมูลค่า เช่น ทำประกันเพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่า บ้านมูลค่า 2,000,000 ทำประกันทุน 1,000,000 บาท หากเกิดไฟไหม้มีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง 500,000 บาท ประกันจะจ่ายค่าสินไหมครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 250,000 บาท ไม่จ่ายเต็มมูลค่าความเสียหาย เพราะถือว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขอสินเชื่อร่วมรับความเสี่ยงภัยด้วย ซึ่งบริษัทประกันจะจ่ายตามสัดส่วนที่ได้ทำประกันภัยไว้
• การทำประกันภัยสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เช่น บ้านมูลค่า 2,000,000 บาท ต้องทำประกันทุน 4,000,000 บาท โดยแยกทำกับประกันภัยหมูเด้ง ทุน 2,000,000 บาท และประกันภัยหมูตุ๋น ทุนอีก 2,000,000 บาท (บริษัทประกันจะไม่รับทำประกันภัยเกินมูลค่าที่แท้จริง) หากเกิดไฟไหม้เสียหายทั้งหลัง ในกรณีนี้จะได้รับค่าสินไหมทดแทน ไม่เกิน 2,000,000 บาท จากประกันแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือทั้งสองแห่งเฉลี่ยความรับผิดชอบกัน ดังนั้น การทำประกันภัยสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะประกันจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินกว่ามูลค่าของบ้าน เพิ่มคำแนะนำว่า ให้ทำประกันใกล้เคียงมูลค่าที่แท้จริง (70%) จะทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด
2. ประกันภัยที่สามารถเลือกขอทำเพิ่มได้ เมื่อขอสินเชื่อ เช่น ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ (MRTA** หรือ LRTA***) ผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ หากไม่ทำก็จะไม่มีผลใดๆต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันทางการเงิน แต่ประกันประเภทนี้มีข้อที่น่าสนใจอยู่หลายประการ ดังนั้น อยากใช้ตัวช่วยหรือเช็คลิสต์ในการตัดสินใจเพิ่มได้ ดังนี้
• รายได้ที่นำมาผ่อนหนี้มาจากผู้ขอสินเชื่อเป็นหลักใช่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการกู้เดี่ยวหรือกู้ร่วมก็ตาม หากเจ้าของรายได้หลักไม่อยู่แล้ว คุณภาพชีวิตของคนที่เหลืออยู่จะแย่ลงอย่างมากหรือใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากมากขึ้น ไม่สามารถรับผิดชอบภาระหนี้สินที่เหลือได้
• ผู้ขอสินเชื่อไม่เคยมีประกันชีวิตใช่หรือไม่ หรือถ้ามีประกันชีวิต แต่ทุนประกันที่ทำไว้ไม่สามารถครอบคลุมภาระหนี้สินที่มีทั้งหมดได้ใช่หรือไม่
• ต้องการเก็บบ้านหลังนี้ไว้ให้เป็นมรดกกับคนข้างหลังต่อไปใช่หรือไม่ คนข้างหลังในที่นี้ หมายถึงสามีหรือภรรยา บุตรธิดา พ่อแม่ พี่น้อง เป็นต้น
หากตอบว่า “ใช่” ทั้งหมด ผู้ขอสินเชื่อควรทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อไว้ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นมาจะได้ไม่ตกเป็นภาระกับคนข้างหลัง และธนาคารจะได้ส่งมอบบ้านคืนให้กับทายาทต่อไป สำหรับประกันประเภทนี้ผู้ขอสินเชื่อ สามารถขอกู้เงินมาชำระค่าเบี้ยประกันได้เต็มจำนวน โดยทยอยผ่อนชำระคืนได้ไม่เกินระยะเวลาของสัญญาเงินกู้หลัก อีกทั้ง ค่าเบี้ยประกันชีวิตที่คุ้มครองเกิน 10 ปี สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ดังนั้น การเลือกทำประกันภัยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์ ล้วนมีความสำคัญไม่น้อย เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นจะทำให้มีค่าความเสียหายและค่าใช้จ่ายสูงตามมา จากบทความข้างต้นจะช่วยเป็นแนวทางให้ผู้ขอสินเชื่อได้พิจารณาเลือกทำประกันในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยเลือกทำประกันภัยที่ตอบโจทย์เรื่องความเสียหายต่างๆ และถ้าหากมีกำลังทรัพย์มาก มีความห่วงเรื่องภัยด้านต่างๆมากขึ้น ก็สามารถช่วยขยายความคุ้มครองได้ เพื่อจะได้ชำระเบี้ยประกันที่ไม่สูงจนเกินไป
แต่ก็ยังคงช่วยบรรเทาความเสียหายได้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ขอสินเชื่อจึงต้องศึกษาโดยเทียบราคาเบี้ยประกัน รวมถึงรายละเอียดความคุ้มครองต่างๆ และเงื่อนไขของประกันภัยแต่ละบริษัท เพื่อได้เลือกรูปแบบที่ตอบโจทย์กับความต้องการ รวมถึงให้ความคุ้มค่ากับคุณมากที่สุดด้วย สำหรับใครที่สนใจอยากทำประกันภัย แต่ไม่ทราบว่าต้องวางแผนอย่างไรเพื่อจะสามารถชำระเบี้ยประกันได้ตลอดระยะเวลาของสัญญา มาเริ่มต้นเรียนรู้การวางแผนการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องเงินอย่างเป็นระบบ ให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
สนใจสอบถามหรือปรึกษาได้ที่ CCAP คลิก 👉🏻 https://lin.ee/NEBc1fz , LINE ID: @helloccap , เบอร์โทร: 092-256-6801
Reference
https://www.kasikornbank.com/th/credit-insight/pages/why-insurance-mrta-is-amust.aspx